วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

หน้าที่ราก-ลำต้น-ใบฯลฯ

  การศึกษาทางอนุกรมวิธานพืช มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ศึกษาจะต้องรู้จักลักษณะสัณฐานวิทยาของพืช เช่น ลักษณะของราก ลำต้น ใบ ดอก ผล และเมล็ด เป็นต้น ลักษณะเหล่านี้มีความผันแปรไปตามชนิดของพืช และเป็นลักษณะสำคัญที่ช่วยในการจำแนกพืชได้ ลักษณะที่นำมาศึกษา ได้แก่
ราก(Root)
         ราก หมายถึง อวัยวะของพืชที่เจริญมาจากรากแรกเกิด (radical) ของเอ็มบริโอภายในเมล็ด ปกติรากเจริญลงไปในดินในทิศทางตามแรงดึงดูดของโลก รากไม่มีข้อและปล้อง ส่วนมากไม่มีสีเขียว รากทำหน้าที่ยึด พยุงและค้ำจุนลำต้นให้ติดกับพื้นดิน ดูดน้ำและธาตุอาหาร และเป็นทางผ่านของน้ำและธาตุอาหารไปยังส่วนต่าง ๆ ของลำต้นและใบ นอกจากนี้รากยังเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะไปทำหน้าที่พิเศษอื่นๆ เช่น เก็บสะสมอาหาร ยึดเกาะ สังเคราะห์แสง เป็นต้น
ต้น (Stem)
        ลำต้น หมายถึง อวัยวะของพืชที่เจริญมาจากส่วนของเอ็มบริโอที่อยู่เหนือรากแรกเกิดภายในเมล็ด โดยเจริญมาจากส่วนของลำต้นเหนือใบเลี้ยง (epicotyl) ซึ่งมียอดแรกเกิด (plumule) เจริญแบ่งเซลล์ไปเรื่อยๆ ทำให้ลำต้นเจริญสูงขึ้นและเกิดใบใหม่ รวมทั้งส่วนของลำต้นใต้ใบเลี้ยง (hypocotyl)ด้วย ลำต้นส่วนใหญ่เจริญขึ้นสู่อากาศในทิศทางตรงข้ามกับแรงดึงดูดของโลก หน้าที่หลักของลำต้น ได้แก่ สร้างใบ ค้ำกิ่งก้านสาขาให้ใบได้รับแสง เป็นทางลำเลียงน้ำและธาตุอาหารจากใบไปสู่ส่วนต่างๆ ของพืชและสร้างอวัยวะสืบพันธุ์ นอกจากนี้ลำต้นยังทำหน้าที่พิเศษอื่นๆ เช่น สะสมอาหาร สังเคราะห์แสง เป็นต้น
ใบ (Leaf)
        ใบ หมายถึง อวัยวะของพืชที่เกิดจากข้อของลำต้นหรือกิ่ง มีลักษณะแบน ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง คายน้ำและหายใจ แต่ใบบางชนิดอาจเปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่พิเศษอื่นๆ ต่างจากที่กล่าวมาแล้ว
ดอก (Flower)
               ดอก หมายถึง อวัยวะของพืชที่เปลี่ยนแปลงมาจากใบ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์ ดอกไม้ในแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันทางลักษณะสัณฐานวิทยา แต่มีโครงสร้างของดอกมีลักษณะพื้นฐานที่คล้ายกัน
 ผล (Fruit)
ผล หมายถึง รังไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิ (fertilization) แล้วเจริญเติบโตเต็มที่ อาจจะมีบางส่วนของดอกเจริญขึ้นมาด้วย เช่น ฐานดอก หรือกลีบเลี้ยง ภายในผลมีเมล็ดได้ตั้งแต่หนึ่งถึงหลายเมล็ด หรือไม่มีเมล็ดก็ได้ ผลอาจจะเกิดจากรังไข่ที่ได้รับหรือไม่ได้รับการผสมเกสรก็ได้

4 ความคิดเห็น: